1 พ.ย. 2559

ร.ร.ผู้สูงอายุ-ส่งเสริมทำงาน รองรับสังคมสูงอายุ

 เปลี่ยน "ภาระ" เป็น "พลัง" ชวนสังคมร่วมพัฒนา "โรงเรียนผู้สูงอายุ-ปลูกฝังความคิดเยาวชน"
อีกเพียง 5 ปี นับจากปีนี้ ประเทศไทยจะกลายเป็น "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์" หรือ "Aged Society" ในปี 2564 แต่การเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ในเรื่องนี้ของสังคมไทย อาจไปไม่ได้ไกลเท่าจำนวนวัยเกษียณที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น



สสส.- มส.ผส. เผยผลวิจัยเตรียมรับมือสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ เปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” ส่งเสริม “โรงเรียนผู้สูงอายุ” - “ไม่หยุดทำงาน” หางานที่เหมาะกับวัย เสริมศักยภาพการใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพ แก้ปัญหาว้าเหว่ ยกระดับคุณภาพชีวิต เตรียมนำร่องนำชุดความรู้รับมือสังคมผู้สูงอายุสอดแทรกการเรียนการสอน ในเด็กมัธยม 5 โรงเรียนนำร่องใน จ.นครราชสีมา
   

       ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “เตรียมพร้อมรับมือสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบหรือยัง” เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล 1 ตุลาคม เพื่อนำเสนอข้อมูลแนวทางการสร้างความตระหนักรู้ในการเตรียมตัวด้านสุขภาพของประชากรทุกช่วงวัย และสร้างเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุ ตลอดจนเสนอแนะการปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และแนวทางการส่งเสริมการทำงานของแรงงานสูงวัย เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย
   

ข้อมูลจาก สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังระบุด้วยว่า ทัศนคติของคนรุ่นใหม่กว่าร้อยละ 40 มองว่า ผู้สูงอายุคือภาระ ทั้งที่ผู้สูงอายุคือปูชนียบุคคล เป็นมันสมอง เป็นหนึ่งกำลังที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย แม้จะมีข้อกังวลเกิดขึ้น หากแต่ครอบครัวและสังคมต้องช่วยกันเตรียมความพร้อม ทำให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมไทยต้องหันมาใส่ใจและลงมือทำอย่างจริงจัง
เช่นเดียวกับเวทีเสวนาวิชาการ "เตรียมพร้อมรับมือสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบหรือยัง" ที่ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล 1 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา
การพูดคุยบนเวทีดังกล่าว นำไปสู่การเสนอข้อมูลและแนวทางการสร้างความตระหนักรู้ ในการสร้างเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านโครงสร้างโรงเรียนผู้สูงอายุ และแนวทางการส่งเสริมการทำงานของแรงงานสูงวัย เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศ ตลอดจนเสนอแนะการปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพ
ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร นักวิชาการอิสระกล่าวว่า จากการวิจัยโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงวัย พบว่าโรงเรียนผู้สูงอายุหลายแห่งช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ เช่น ความว้าเหว่ \'โรงเรียนผู้สูงอายุ\' ปลูกฝังความคิดเยาวชน thaihealthภาวะการเจ็บป่วย และเปลี่ยนภาระสังคมให้กลายเป็นพลัง ทั้งนี้ รูปแบบของโรงเรียนผู้สูงอายุโดยส่วนมาก มีรูปแบบให้ผู้สูงอายุในชุมชนและจากอำเภอใกล้เคียงมาทำกิจกรรมร่วมกัน บางแห่งพบปะกันเดือนละ 2 ครั้ง บางแห่งนัดเพื่อแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและให้ข้อมูลข่าวสาร



ขณะที่บางแห่งมีการจัดทำหลักสูตรวิธีการถ่ายทอดความรู้และจัดห้องเรียนอย่างเหมาะสม  จนสามารถ่ายทอดองค์ความรู้สมัยใหม่ให้แก่วัยเกษียณอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงองค์ประกอบพื้นฐาน ประสบการณ์ในอาชีพ ความต้องการแท้จริงของนักเรียนผู้สูงอายุเป็นหลัก โดยผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักเรียนสูงวัย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายชุมชน หรืออาจารย์พยาบาลที่มาแนะนำการดูแลสุขภาพ ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นความหลากหลายทางความรู้ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
"การที่ผู้สูงวัยได้รับโอกาสให้ไปโรงเรียนผู้สูงอายุถือมีประโยชน์อย่างมาก เพราะเมื่อเกิดกิจกรรมระหว่างกัน จะลบภาพเชิงลบที่เคยมองตนเองออกไปและทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า สามารถนำองค์ความรู้ทีได้รับมา ไปถ่ายทอดต่อกับบุตรหลานในครอบครัวได้  ส่วนด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการได้รับความรู้ในการดูแลตนเอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เช่น ใส่ใจการทำความสะอาดร่างกายและเสื้อผ้า ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานยาอย่างถูกวิธี ซึ่งสะท้อนว่านักเรียนสูงอายุสามารถเข้าใจตนเอง และรับรู้ผลกระทบต่อสุขภาพ" นักวิชาการอิสระคนเดิม ระบุ
ศ.ศศิพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า โรงเรียนผู้สูงอายุควรได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านงบประมาณ องค์ความรู้ เทคนิคและทักษะการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งก้าวต่อไปควรดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่ดีในการเสริมสร้างความเท่าเทียมแก่คนทุกวัย

ด้าน รศ.ดร.สรันยา เฮงพระพรหม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้น ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันและอนาคตให้มากที่สุด งานวิจัยจากโครงการ "ชุดความรู้" ที่ทำให้เกิดความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ จึงได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจาย มาสร้างเป็นชุดความรู้สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มคือ วัยมัธยมศึกษาและกลุ่มวัยแรงงาน
"ชุดความรู้นี้ จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มวัยเด็กมัธยมศึกษาอายุ 15-20 ปี เป็นหลัก เป็นการมอบแบบฝึกหัดแฝงไว้กับวิชาแขนงต่างๆ ตามความเหมาะสม เพื่อสร้างกระบวนการทางความคิดให้เยาวชน ปลูกฝังความพร้อมที่จะเผชิญสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะใช้นำร่องในโรงเรียน จ.นครราชสีมา 5 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบ"รศ.ดร.สรันยา ชี้แจงเพิ่ม
ขณะที่ อดุลย์ ภู่ภัทรางค์ ผู้อำนวยการโรงเรียน บัวลาย จ.นครราชสีมา หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบ นำชุดความรู้แบบฝึกหัดไปทดลองใช้ บอกว่า ผลวิจัยมุ่งมาที่กลุ่มเด็กนักเรียนเพื่อให้เตรียมตัว ด้วยการสร้างกระบวนการความคิดให้ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้พร้อมในการรับมือเมื่อเผชิญกับสังคมผู้สูงวัย  แต่ที่น่ากังวลคือเด็กรู้แล้วจะนำไปใช้หรือไม่ จึงเป็นอีกโจทย์ที่นอกจากมอบความรู้ให้แล้ว ทางโรงเรียนต้องทำให้เด็กสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ และขยายผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงถึงความคิดเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ\'โรงเรียนผู้สูงอายุ\' ปลูกฝังความคิดเยาวชน thaihealth

ส่วน รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุมีแต่ได้กับได้ เพราะเป็นการสร้างหลักประกันที่มั่นคงด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุ เพิ่มการอยู่ดีมีสุข ซึ่งเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญ อีกทั้งยังเพิ่มบทบาทและคุณค่าของผู้สูงอายุ ด้วยการมีส่วนร่วมเชิงเศรษฐกิจ และในแง่การทดแทนประชากรในวัยแรงงานที่มีแนวโน้มถดถอยลง
"แต่ในแง่ผู้ประกอบการ พบว่าไม่เห็นด้วยกับการจ้างงานผู้สูงอายุ เพราะมองว่าไม่คุ้มทุนหากเทียบกับจ้างคนในวัยแรงงาน ในประเด็นนี้ผลการวิจัยกลับขัดแย้ง และเห็นว่าสามารถสร้างเงื่อนไขและหางานที่เหมาะสมกับพนักงานวัยเกษียณได้  โดยรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องนำร่อง ส่งเสริมการจ้างงานให้กับผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัย ประสบการณ์ และสมรรถภาพทางร่างกาย รวมถึงสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการทำงานของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเอง"คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000098589
http://www.thaihealth.or.th/Content/33376 -โรงเรียนผู้สูงอายุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น